ถอดบทเรียนทักษะผู้นำ จาก 5 CEO ระดับโลก

วันที่ : 26 Jun 2022 ผู้เขียน : Krungsri Consumer
หลายคนสงสัยว่า ทำไมผ่านมาครึ่งชีวิตแล้วความสำเร็จยังมาไม่ถึงสักที อาจเพราะคุณยังติดอยู่กับวิธีคิดแบบเดิม มาพลิกวิธีคิดแบบมีตัวช่วย จากบทเรียนทักษะผู้นำระดับโลก
นับเป็นความท้าทายในการทำงานยุคหลังโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากวิถีชีวิตจะพลิกเปลี่ยนแล้ว วิถีการทำงานในองค์กรต่าง ๆ ก็พากันตีลังกา 18 ตลบเพื่อหลบหลีก และพลิกตัวเองให้อยู่รอดได้ ทั้งจากภาวะโรคระบาด ภาวะเศรษฐกิจ และการมาถึงแบบฟ้าผ่าของเทคโนโลยีดิจิทัล เราได้รู้จักศัพท์ดิจิทัลใหม่แทบทุกวัน โดยเฉพาะคำล่าสุด “Metaverse” การบรรจบกันของโลกจริงและโลกเสมือน
เมื่อโลกพลิกไปเร็วขนาดนี้ เราจะไม่ปรับความคิดคงไม่ได้ ตามไปดูบทเรียนทักษะผู้นำ จาก 5 CEO ระดับโลกที่จะมาช่วยพลิกวิธีคิดให้ประบความสำเร็จ Krungsri Consumer รวบรวมมาให้แล้ว

 

เมื่อไหร่ที่ผมจะสื่อสาร ‘อีเมล’ ช่วยได้เสมอ

อีลอน มัสก์ CEO จาก Tesla Motors

พลิกจากความเชื่องช้าเป็นการตอบสนองที่ไวกว่า

คุณเป็นคนหนึ่งที่ติดกับคำว่า “ไว้ก่อน” หรือเปล่า ตอบอีเมลลูกค้า “ไว้ก่อน” ส่งเอกสารที่ฝ่ายบัญชีตาม “ไว้ก่อน” การตอบสนองที่เชื่องช้าแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับภาวะผู้นำแน่ ๆ ลองพลิกจากความเชื่องช้ามาเป็นการตอบสนองที่ไวกว่า และลงมือทำทันที เหมือนที่ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทสเปซเอ็กซ์ และสถาปนิก เทสลา มอเตอร์ส ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัทของเพย์แพล แนวคิดสุดล้ำของเขาที่คนไม่เคยยอมรับ กลับกลายเป็นสิ่งที่กำลังทยอยเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต กับแนวคิดการทำงานที่ต้องรวดเร็วฉับไว เขาเป็นหนึ่งใน CEO ที่ตอบอีเมลรวดเร็วมาก หากคุณอีเมลหาอีลอนเรื่องงานเขาจะตอบกลับภายใน 5 นาทีแบบละเอียดด้วย เพราะเขาไม่อยากให้การทำงานต้องสะดุด เพราะงานมาหยุดค้างอยู่ที่ตัวเขา และเพื่อให้คนทำงานอื่น ๆ ต่อได้นั่นเอง
แนวทางการทำงานของ อีลอน มัสก์ สามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานได้เป็นอย่างดี บางคนอีเมลกองอยู่ใน Inbox เป็นอาทิตย์ กว่าจะเคลียร์ตอบได้หมดก็ทำให้งานล่าช้าออกไป อย่างช้าที่สุดควรตอบกลับอีเมลให้จบแบบวันต่อวันจะดีที่สุด

หลายคนฝันถึงความสำเร็จ
ในขณะที่บางคนตื่นมาลงมือทำ

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO จาก Meta

พลิกวันหมองมัวเป็นวันสดใส แค่เริ่มต้นเช้าวันใหม่อย่างมีระบบ

คุณเป็นเหมือนกันไหม? การเริ่มต้นเช้าวันใหม่ที่ดีมีผลต่อการทำงานตลอดทั้งวัน หากเช้าวันไหนดันเริ่มต้นจากอีเมลตามงานจากลูกค้าแล้วละก็ วันนั้นทั้งวันของคุณอาจไม่สดใสอย่างที่ตั้งใจไว้ ฉะนั้นตื่นให้เช้ากว่าปกติแล้วมาพลิกวันอันหมองมัว สู่วันอันสดใสแค่จัดระบบงานให้เป็น เหมือนที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook หรือ Meta ในปัจจุบัน มาร์กเป็นคนที่มีระบบและวางแผนการทำงานในแต่ละวันเป็นอย่างดี ทุกเช้าหลังตื่นนอนเขาต้องทำรายการ To-do-list เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการทำงาน แต่ละวันของเขา อันไหนสำคัญที่สุดก็จะลงมือทำก่อน อันไหนสำคัญน้อยก็ทำทีหลัง เพื่อให้งานเสร็จทัน และทำงานออกมาให้ดีที่สุด
สไตล์การทำงานของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเหมาะกับการนำมาปรับใช้ในการทำงาน และง่ายที่จะทำตามที่สุด เพียงแค่หลังจากที่คุณตื่นนอน แล้วเซตแพลนชีวิตในวันนั้น ๆ ด้วยการทำ To-do-list นอกจากลำดับความสำคัญของงานได้แล้ว ยังทำงานเสร็จได้เป็นชิ้นเป็นอันอีกด้วย

ผมไม่เสียใจที่ทำจะล้มเหลว
แต่ผมจะเสียใจ ถ้าผมไม่ได้ลงมือทำ

เจฟฟ์ เบโซส์ อดีต CEO จาก Amazon

พลิกความกลัวมากล้าลงมือทำก่อนที่จะสาย

เชื่อว่า มนุษย์เงินเดือนหลาย ๆ คนอยากลงทุนทำธุรกิจในสิ่งที่ตัวเองรัก เงินก้อนที่สู้อุตสาหะเก็บไว้ก็มีแล้ว แต่ยังรั้งรอไม่กล้าลงมือทำ จนสุดท้าย เงินก้อนที่เก็บไว้ก็ไม่ได้ใช้ลงทุน หมดไปเพราะมัวแต่ลังเลกลัวว่าธุรกิจจะไปไม่รอด เพราะความกลัวนี้เองที่ทำให้ถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ เหมือนกับ เจฟฟ์ เบโซส์ อดีตเจ้าพ่อ Amazon ที่นำพาบริษัทไปถึงจุดที่รุ่งเรืองจนถึงขีดสุด เขามีแนวคิดว่า “ให้จินตนาการว่าคุณอายุ 80 ปี อะไรคือสิ่งที่คุณเสียใจที่สุด ระหว่างสิ่งที่คุณไม่ได้ทำ กับสิ่งที่คุณทำแล้วล้มเหลว เกือบทั้งหมดมักจะเสียใจกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ มากกว่าความล้มเหลวของตนเอง ดังนั้น ต่อให้ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ลองเสี่ยงลงมือทำดู” เหมือนที่เขาเสี่ยงลาออกจากบริษัท เพื่อมาสร้างอาณาจักร Amazon จนประสบความสำเร็จนั่นเอง
หากคุณตัดสินใจจะลงมือทำอะไรแล้วอย่ารั้งรอ หากวางแผนมาดีแล้ว ก็เดินหน้าลุยเลย ถ้าไม่เสี่ยงทำ คุณจะไม่มีวันรู้เลยว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ฉะนั้นจงกล้าคิด แล้วพลิกลงมือทำ

โลกในวันที่เราจากไปจะต้องดีกว่าในวันที่เราเกิดมา

ทิม คุก CEO จาก Apple

ปรัชญาการทำงานพลิกชีวิต

เรามักมีความคิดอุดมคติที่ยิ่งใหญ่อยู่ในใจกันแทบทุกคน เช่น อยากจัดตั้งกองทุนให้หมู่บ้าน อยากลุกขึ้นมารณรงค์ลดโลกร้อนแบบจริงจัง แต่เรามักปล่อยให้ความคิดยิ่งใหญ่แล้วนี้ถูกฝังกลบอยู่ในหัว แต่ หัวเรือใหญ่ของ Apple คนปัจจุบัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แบรนด์ Apple ได้มหาศาล ทิม คุก ใช้แนวคิดที่น่าสนใจหลายแนวคิดขับเคลื่อนชีวิต การทำงาน และขับเคลื่อนองค์กรขนาดใหญ่อย่าง Apple ซึ่งเราสามารถดึงมาปรับใช้กับชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็น “โลกในวันที่เราจากไปจะต้องดีกว่าในวันที่เราเกิดมา” เพราะทิม คุก ใส่ใจโลก ไม่ใช่แค่หมกมุ่นแต่กับงาน เขานำผลตอบแทนจากการลงทุนมาทุ่มงบประมาณการกุศล ให้กับการศึกษาและการพัฒนา Feature เพื่อคนพิการ คือการทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น เมื่อมีมากก็ควรตอบแทนสังคมคืนกลับบ้าง
“ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีใครไม่สมควรได้รับเกียรติ” ในวันที่ทิม คุก เปิดตัวไอโฟน 6 / ไอโฟน 6 Plus มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาเชิญทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ลุกขึ้นยืน ซึ่งนั่นคือ ทุกคนในบริษัท แสดงให้เห็นว่าไม่ว่า จะเป็นพนักงานระดับไหน เขาก็ปฏิบัติตัวเท่าเทียมกัน

ให้พนักงานได้ตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างมีอิสระ

รีด เฮสติงส์ CEO จาก Netflix

พลิกการทำงานสู่อิสรภาพควบคู่ความรับผิดชอบ

วิถีการทำงานไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกรอบอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับที่ รีด แฮสติงส์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ Netflix แพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงยักษ์ใหญ่ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เขามีแนวคิด Freedom and Responsibility อิสรภาพควบคู่ความรับผิดชอบ สนับสนุนให้พนักงานทุกคนได้ ‘คิด’ และ ‘ตัดสินใจ’ ทำอะไรด้วยตัวเอง แทนที่จะทำตามคำสั่งของหัวหน้าอย่างเดียว รีด แฮสติงส์ เชื่อในการปรับตัว ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน หากธุรกิจต้องการอยู่รอดก็ต้องรู้จักปรับตัว และเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมด้วย จึงยกเลิกกฎเดิม ๆ อย่างสถานที่ทำงานที่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน การแต่งกาย การต้องทำงานใกล้ชิดกันตลอดเวลา
แต่อิสรภาพต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากกว่า Netflix ให้ค่าตอบแทนพนักงานสูง เพื่อแลกกับคนเก่งมาร่วมงาน แต่ถ้าทำงานคุณภาพไม่ถึงขั้น ก็ต้องพร้อมที่จะถูกโละทิ้ง ฉะนั้นแค่ทำงานเก่งอย่างเดียวไม่พอ คุณภาพของงานต้องไม่ลดลงด้วย
อย่าลืมว่าชีวิตยังมีเรื่องราวดี ๆ มากมายรออยู่ Just FLIP ชีวิตก็ง่ายขึ้น พลิกความคิด...เปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ที่รออยู่ เพราะ Krungsri Consumer พลิกมุมมองใหม่ให้กับคุณ เพื่อให้คุณเป็นต่อ...ในก้าวที่ไกลกว่า
แชร์บทความนี้ไปยัง

บทความน่าสนใจอื่นๆ