ระวังภัยจากมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของ SMS (Smishing)

วันที่ : 29 Apr 2025 ผู้เขียน : Krungsri Consumer

ปัจจุบัน Smartphone สามารถทำธุรกรรมการเงิน ยืนยันตัวตน จนไปถึงการกู้ยืม โอนเงิน หรือชำระเงินจากบัตรเครดิต ก็ทำได้อย่างสะดวกมากขึ้น ทำให้เป็นอีกช่องทางที่มิจฉาชีพโจมตีเหยื่อจากข้อความบนมือถือ เป็นเทรนด์ที่เริ่มมีอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น การส่ง SMS เข้าเครื่องมือถือด้วยข้อความชวนกู้เงิน การแจ้งเรื่องพัสดุตกค้างของบริษัทไปรษณีย์ต่าง ๆ หรือให้แลกคะแนนสะสมของบริษัทต่าง ๆ โดยมีจุดประสงค์ของการหลอกลวงให้เสียทรัพย์ สิ่งนี้เรียกว่า Smishing ที่เป็นการรวมกันของ SMS + Phishing (การตกเหยื่อ) ซึ่งเรียกว่า การตกเหยื่อจากการส่ง SMS นั่นเอง

โดยวิธีการหลอกลวง มิจฉาชีพจะทำการส่งข้อความเข้าเบอร์มือถือ จะเป็นการส่งข้อความเพื่อให้กดลิงก์หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อทำการลงทะเบียน แลกของ หรือรับเงิน รวมไปถึงพัสดุต่างประเทศผิดกฎหมาย ต้องจ่ายเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี เป็นวิธีการที่เล่นกับความกลัว

การใช้วิธี SMS (Smishing) คือการหลอกลวงทางข้อความ โดยผู้หลอกลวงจะพยายามขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ ด้วยการส่งข้อความไปหาเหยื่อบ่อย ๆ โดยเปลี่ยนเนื้อหาของข้อความที่จะเล่นกับจิตวิทยา ความกลัว อารมณ์ ความไว้วางใจ ความสับสน และความเร่งรีบในชีวิตของเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อทำตามแผนของผู้หลอกลวงเอาข้อมูล

จุดสังเกตของข้อความที่เป็น Smishing

  • ข้อความที่ส่งลิงก์มาให้ และส่วนใหญ่บนลิงก์จะมีการสะกดผิด
  • ข้อความที่ถูกเขียนในลักษณะที่กระตุ้นให้ผู้อ่านรู้สึกหวาดกลัว เช่น เงินของคุณถูกถอนออกจากบัญชี 50,000 บาท
  • ข้อความที่อ้างว่าผู้ใช้งานเป็นผู้โชคดี ได้รับเงินหรือรางวัลอะไรบางอย่างเพื่อหลอกล่อให้คลิก เช่น ยินดีด้วย! คุณเป็นผู้โชคดี ได้รับเงินเยียวยาผู้ประสบภัยโควิด-19 จำนวน 20,000 บาท เป็นต้น
  • ข้อความที่มักให้ผู้ใช้งานกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น รายละเอียดบัตรเครดิต เลขประจำตัวประชาชน หรือรหัสผ่านต่าง ๆ
  • ข้อความที่มักใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ และมีการสะกดผิด

แนวทางการป้องกัน Smishing

  • ตรวจสอบชื่อหรือเบอร์โทร ผู้ส่งข้อความ (Sender name) ให้ดีก่อนเสมอ
  • ไม่คลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์โดยไม่ตรวจสอบ
  • ตรวจสอบเนื้อหาภายในข้อความว่าใช้ภาษาที่เป็นทางการ สมเหตุสมผลกับที่ส่งมาจากองค์กรใหญ่ ๆ หรือไม่ และมีคำผิดที่แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพปะปนอยู่หรือไม่
  • ศึกษาเครื่องมือการป้องกัน เช่น การจำกัดวงเงิน การจำกัดรายการ หรือการระงับบัตรเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เป็นต้น
  • อ่านข้อความที่บริษัทนำส่ง OTP ว่าชื่อร้านค้าและจำนวนเงินสอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้ากำลังทำรายการอยู่หรือไม่
  • กรณีที่ลูกค้าพลาดกรอกข้อมูลสำคัญให้กับลิงก์หลอกลวง ให้รีบเข้าระงับบัตรเครดิตใน UCHOOSE แล้วติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรเพื่อขอเปลี่ยนบัตรใหม่

- บัตรเครดิต ใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวน
ตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี

- สินเชื่อส่วนบุคคล กู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว
อัตราดอกเบี้ยปกติ 25% ต่อปี

 
แชร์บทความนี้ไปยัง